การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องสำอางก่อนที่จะวางจำหน่ายสู่ตลาด ในสูตรเครื่องสำอางมีสารหลายชนิดที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองได้ เช่น สารกันเสีย, สารแต่งกลิ่นหอม, สารสกัดธรรมชาติและสารทำความสะอาด โดยมักจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเหล่านี้ที่ใช้ด้วย ดังนั้นการทดสอบความปลอดภัยนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าเครื่องสำอางนั้นปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง การทดสอบเครื่องสำอางด้านความปลอดภัยแต่ละประเภทก็จะมีรูปแบบการทดสอบที่แตกต่างออกไป
วิธีการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. การทดสอบอาการระคายเคืองบนผิวหนัง (Skin irritation test) เป็นวิธีการทดสอบเพื่อประเมินว่าสารหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรือไม่ การทดสอบนี้มักใช้เพื่อทดสอบความปลอดภัยของเครื่องสำอางอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์สำหรับผม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สัมผัสกับผิวหนัง อาการระคายเคืองบนผิวหนังที่พบบ่อย ได้แก่ แดง (Redness), บวม (Swelling) และผื่น (Erythema) เป็นต้น
การทดสอบอาการระคายเคืองบนผิวหนัง มี 3 วิธี ได้แก่
1.1 การทดสอบการระคายเคืองแบบเปิด (Open patch test) เป็นวิธีการทดสอบที่สารหรือผลิตภัณฑ์ทดสอบจะถูกทาลงบนผิวหนังบริเวณท้องแขนหรือหลังของอาสาสมัคร ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นสังเกตอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้น
1.2 การทดสอบการระคายเคืองแบบกึ่งเปิดปิด (Semi patch test) เป็นวิธีการทดสอบที่สารหรือผลิตภัณฑ์ทดสอบจะถูกปิดทับด้วยแผ่นทดสอบที่สามารถสัมผัสกับอากาศได้ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นสังเกตอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้น
1.3 การทดสอบการระคายเคืองแบบปิด (Closed patch test) เป็นวิธีการทดสอบที่สารหรือผลิตภัณฑ์ทดสอบจะถูกปิดทับด้วยแผ่นทดสอบ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นสังเกตอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้น
2. การทดสอบการแพ้ (Human Repeated Insult Patch Test (HRIPT) หรือเรียกอีกชือว่า Hypoallergenic Test เป็นวิธีการทดสอบการระคายเคืองแบบสะสมเกิดขึ้น ณ บริเวณนั้น (Cumulative Irritation) ดูการเกิดการแพ้ต่อสารส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ โดยมีเรื่องของภูมิคุ้มกันมาเกี่ยวข้อง การทดสอบนี้จะนำผลิตภัณฑ์มาทาบนผิวหนังของกลุ่มผู้ทดสอบที่เลือกมา และทดสอบโดยการให้ใช้ผลิตภัณฑ์เป็นระยะเวลาที่กำหนด เช่น แปะแผ่นทดสอบไว้ 24 ชั่วโมง โดยทดสอบซ้ำในระยะเวลาต่อเนื่อง เพื่อประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานต่อเนื่องบนผิวหนังของมนุษย์ การทดสอบนี้เน้นการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองและการแพ้ เมื่อใช้งานในระยะเวลาที่ยาวนาน ผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่เป็นประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย
การทดสอบการแพ้ โดยการทดสอบแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
2.1 ระยะเหนี่ยวนำ (Induction Phase) เป็นลักษณะที่ร่างกายได้รับสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดการแพ้ก่อนในครั้งแรกเพื่อร่างกายจะได้ทำความรู้จักกับสารชนิดนี้ ที่ทำให้เกิดการแพ้ (สารที่ทำให้เกิดการแพ้ = Antigen) หลังจากนั้นร่างกายก็จะสร้าง Antibody เพื่อให้ร่างกายได้รับรู้ว่าสารที่เป็น Antigen กำลังเข้าสู่ร่างกายของเรา เป็นอันตรายต่อร่างกาย Antibody จะทำหน้าที่จับ Antigen ในครั้งถัดไป
2.2 ระยะพัก (Resting Phase) เป็นลักษณะที่ร่างกายได้พัก เพื่อรอเข้าสู่กระบวนการต่อไป โดยมีระยะพักที่ 7 ถึง 14 วัน
2.3 ระยะการแพ้ (Challenge Phase) เมื่อ Antigen เข้ามาในครั้งที่ 2 Antibody จะเขาไปจับ จึงเกิดเป็นอาการแพ้ขึ้นมา